แคมเปญใหม่ของ BOI ชูจุดเด่นความยืดหยุ่นของประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เปิดตัวโครงการใหม่ปี 2563 ในหัวข้อ “Think Resilience, Think Thailand” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของประเทศที่ผ่านการทดสอบ และยังตอกย้ำถึงสถานะการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค
แคมเปญดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือกับวิกฤตของประเทศและการกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เหมือนดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย ปี 2540 และวิกฤตการเงินโลก ปี 2551
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า “แคมเปญใหม่นี้ได้รวมความสามารถในการแข่งขันหลัก ๆ ทั้ง 4 ข้อ ได้แก่ ความหลากหลาย ระบบนิเวศ ทำเลที่ตั้ง และซัพพลายเชน เข้าไว้ในการวางจุดยืนเชิงกลยุทธ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียนและประตูสู่เอเชีย”
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ขณะนี้กำลังก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้โมเดลการพัฒนา Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและยั่งยืนแห่งอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางนวัตกรรมดิจิทัลของเอเชีย
ระบบนิเวศด้านการลงทุนของประเทศไทยมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ดี นโยบายการลงทุนที่เอื้ออำนวย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีที่ครอบคลุม นอกจากนี้นักลงทุนที่มีฐานในประเทศไทยยังได้รับความสะดวกและความคุ้มค่าในการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยในปี 2562 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ในเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจจากการสำรวจของธนาคารโลก
จุดยุทธศาสตร์ของประเทศที่อยู่ใจกลางอาเซียน ทำให้นักลงทุนง่ายต่อการเข้าถึงตลาดที่มีประชากรรวมมากกว่า 630 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนและอินเดีย
อุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่หลากหลายยังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตำแหน่งที่สำคัญในซัพพลายเชนระดับโลก ยิ่งไปกว่านั้นประสบการณ์ที่ผ่านมาในการรับมือกับการหยุดชะงักในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินไปจนถึงภัยธรรมชาติ ได้ช่วยให้ประเทศไทยสร้างความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมาตรฐานใหม่ของซัพพลายเชนระดับภูมิภาคและระดับโลก
“แม้ COVID-19 จะนำโลกไปสู่ความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางให้มีโอกาสใหม่เกิดขึ้นได้ด้วย” นางสาวดวงใจกล่าว “ข้อความของเรามีขึ้นเพื่อแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นของประเทศไทยเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบในการคว้าโอกาสเหล่านั้น”
BCG ECONOMY เป็นคำตอบของความท้าทายมากมาย
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยกำลังส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy, BCG) เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy)
ประเทศไทยได้ระบุอุตสาหกรรม 5 ประเภท ได้แก่ อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเคมีและเชื้อเพลิงชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นฐานใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า อุตสาหกรรมเหล่านี้รองรับการพัฒนาของ BCG ซึ่งใช้ประโยชน์จากภาคเกษตรกรรมที่แข็งแกร่ง ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงจำนวนแรงงานที่มีทักษะที่เพิ่มขึ้น
การศึกษาของธนาคารโลก 2 ฉบับยืนยันถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยในดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 และในดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ปี 2561 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 160 เป็นรองเพียงสิงคโปร์ในอาเซียน
เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความก้าวหน้าของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ปรึกษา Dual Citizen ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในอาเซียนและอันดับที่ 27 จาก 130 ในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียวปี 2561 การจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของประเทศในด้านความเป็นผู้นำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดและการลงทุน และตัวชี้วัดสภาพแวดล้อม
ข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศไทยใน BCG มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐกำลังผลักดันแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG และเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในด้านชีวเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ โรงงานผลิตทางชีวเคมี โรงกลั่นชีวภาพ และการยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
เข้าร่วมความพยายามระดับโลกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด
ความแข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ รวมถึงความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
นักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพและผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและประชากรไทยจะมีอุปกรณ์ป้องกันและแนวทางการวินิจฉัยที่รวดเร็ว
ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดทดสอบ ซึ่งช่วยให้ห้องปฏิบัติการในประเทศสามารถตรวจหากรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) จากไวรัส SARS-CoV-2 ด้วยราคาที่เหมาะสมกว่าการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการค้า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้คิดค้นเทคนิค Loop-Mediated Isothermal Amplification (LAMP) เพื่อตรวจหา DNA และ RNA ของไวรัสโดยมีประสิทธิภาพเกือบเทียบเท่ากับวิธี Realtime-PCR ห้องปฏิบัติการของไทยยังได้ใช้วิธี Immunochromatography ในการตรวจหาไวรัสเพื่อติดตามการติดเชื้อใหม่ในเชิงรุก
ที่สำคัญนักวิจัยไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยกำลังดำเนินการทดลองสำหรับวัคซีน 3 ประเภท ได้แก่ DNA mRNA และโปรตีนจากพืช นักวิจัยไทยอาจเป็นผู้คิดค้นวัคซีนได้สำเร็จในปลายปีนี้ด้วยวิธี mRNA ซึ่งมีความก้าวหน้ามากที่สุดในตอนนี้ คาดว่าการทดสอบวัคซีนในมนุษย์จะเริ่มภายในปีนี้เพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศในช่วงปลายปี 2564
มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของ BOI
BOI เสนอการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปีให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรต่าง ๆ โดยภาคส่วนที่มีสิทธิ์ภายใต้โครงการนี้ ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การปลูกพืชเศรษฐกิจ การผลิตปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรขั้นสูง เช่น การผลิตสารออกฤทธิ์และอาหารทางการแพทย์
เพื่อเป็นการส่งเสริมโมเดล BCG เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการของ BOI มีมติที่จะเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 5 ปีสำหรับโครงการโรงงานปลูกผัก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการผลิตพืชที่มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีโดยการควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะปลูก
นอกจากนี้ BOI ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในธุรกิจต่าง ๆ ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การคัดเกรด การบรรจุและการจัดเก็บผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม และผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี BOI ให้การส่งเสริมบริษัทต่างชาติโดยอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอนุญาตชาวต่างชาติให้ถือหุ้นได้ไม่จำกัดจำนวน BOI ยังอนุญาตการออกสมาร์ทวีซ่า ซึ่งจะช่วยให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ใน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยและครอบครัว สามารถพักอาศัยอยู่ในประเทศได้นานถึง 4 ปีโดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงาน
InterLoop เราพร้อมให้ความช่วยเหลือนักลงทุนในทุก ๆ ขั้นตอน ในด้านการขอยื่น BOI ท่านสามารถติดต่อได้ที่ Line ID: @inlps และ เบอร์โทรศัพท์: 097-106-9113
Leave a Reply