เวียดนามเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามเป็นฐานการลงทุนที่บริษัทต่างชาติต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นจุดหมายทางการลงทุนที่สร้างกำไรให้นักลงทุนต่างชาติได้มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก โดยบทความ “10 เหตุผลที่ควรลงทุนในเวียดนาม ตอน 2” เป็นบทความต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว
6. มีโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจระดับโลก
โครงสร้างพื้นฐานการทำธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมได้ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของเวียดนาม นับว่ามีพัฒนาการที่ดี เนื่องจากรัฐบาลปรับปรุงกฎหมายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งการลดขั้นตอน ลดความซับซ้อนการทำธุรกิจ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสทางธุรกิจ เพื่อเอื้อให้เกิดการแข่งขันในประเทศ
– ระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในเวียดนาม ประกอบด้วย ถนน ทางหลวง ทางรถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน โดยปัจจุบันเวียดนามมีสนามบินพาณิชย์ 21 แห่ง และสนามบินนานาชาติ 10 แห่ง เป็นจุดเชื่อมกับจุดหมายปลายทาง 41 แห่งทั่วโลก ทั้งประเทศในอาเซียน และประเทศอื่น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรเลีย เป็นต้น
การเดินทางทางบก เวียดนามมี National Road System สามารถเดินทางไปได้ทุกที่ในประเทศ ผ่านรถขนส่งสาธารณะและรถแท็กซี่ ผ่านแพลตฟอร์มให้บริการมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ “Xe Om” ที่รองรับการเดินทางของชาวเวียดนาม นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้หากนักลงทุนต้องการเดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น จีน กัมพูชา ลาว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ รถประจำทาง หรือรถไฟได้เช่นกัน การเดินทางในประเทศและรอบ ๆ ประเทศเพื่อนบ้าน จึงค่อนข้างสะดวก
ส่วนการเดินทางทางน้ำ ทำเลที่ตั้งของเวียดนามก็มีภูมิรัฐศาสตร์อันได้เปรียบ มีท่าเรือน้ำลึกที่ใช้ติดต่อการค้ามาตั้งแต่อดีต ทำให้ปัจจุบันเวียดนามเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า โดยในปี 2557 ปริมาณการขนส่งสินค้า Saigon Port สูงถึง 109 ล้านตัน ในขณะที่ Hai Phong Port มีมากกว่า 55 ล้านตัน
– สวนอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจ และ Hi-Tech Parks ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เวียดนามมีพื้นที่อุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งการประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม และการค้า เช่น การส่งออก โดยธุรกิจเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางภาษี และนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษี ล้วนเป็นนโยบายจูงใจการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบันเวียดนามมีสวนอุตสาหกรรมประมาณ 256 แห่ง และเขตเศรษฐกิจ 20 แห่ง นอกจากนี้มี Hi-Tech Parks 3 แห่ง ในฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ และดานัง
7. ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์
เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ทั้งพื้นที่ป่าเขตร้อน น้ำมันก๊าซ ถ่านหิน และแหล่งแร่ต่าง ๆ จึงเป็นแหล่งผลิตที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนกลุ่มบริษัทสำรวจระหว่างประเทศ แต่ด้วยปัญหา “Resource Curse” หรือภาวะคำสาปทรัพยากร ที่ World Bank จำกัดความว่า หมายถึงประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ แต่ประชากรในประเทศไม่ได้อยู่ดีกินดี กลับมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำกว่าประเทศที่ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่พร้อม ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศ
ดังนั้นความขัดแย้งทางการเมืองของเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงพยายามเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มแทน เพื่อปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมภายในประเทศให้เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ในส่วนของทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกไว้ 4 แห่ง ประกอบด้วย Hue Imperial City, Phong Nha – Ke Bang Cave, Hoi An Ancient Town และ My Son Sanctuary ซึ่งสถานที่เหล่านี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม มอบประสบการณ์การเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวด้วยมุมมองใหม่ๆ จากอารยธรรมที่มากกว่า 1,000 ปี
8. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง
สมัยก่อนเมื่อพูดถึงเวียดนาม อาจจะนึกถึงการทำสงครามและการทำลายล้าง เนื่องจากบริบทในอดีต ความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ปัจจุบันภาพความรุนแรงเหล่านั้นค่อย ๆ เปลี่ยนไป เวียดนามมีเสถียรภาพการเมืองมากขึ้น พร้อม ๆ กับการปรับปรุงกฎระเบียบเอื้อต่อการทำธุรกิจ การเปิดประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การออกนโยบายส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ยิ่งสถานการณ์การเมืองของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่ยังไม่มีความแน่นอน เช่น ในประเทศจีน อินโดนีเซีย ไทย ทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
โดยในรายงาน The World in 2050 ของ HSBC ที่เผยแพร่ในปี 2555 ระบุว่า เวียดนามติดอันดับ 7 ใน 10 จุดหมายปลายทางในการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน UNCTAD ยังจัดให้เวียดนามเป็น 1 ใน 10 ประเทศกลุ่มเอเชียกำลังพัฒนา ที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุดในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ
นอกจากนี้ในรายงานการสำรวจ ของ The American Chamber of Commerce in Singapore (AmCham Singapore) ชี้ว่าในตลาดการลงทุนของสหรัฐอเมริกา เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดยทาง AmCham Singapore ให้เหตุผลว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบจากความพร้อมตลาดแรงงาน ต้นทุนต่ำ และสภาพแวดล้อมในเชิงมหภาค ที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ
9. ความเป็นอยู่ของเวียดนาม
ยิ่งเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตขึ้น ค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตของชาวเวียดนามก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจะเห็นว่าหลังมีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของคนเวียดนามก็เพิ่มขึ้น เช่น โรงแรมและรีสอร์ทระดับ 5 ดาว ศูนย์การแพทย์ชั้นหนึ่ง ห้างสรรพสินค้าโรงภาพยนตร์ สนามกีฬา เป็นต้น
การใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉงของคนยุคสมัยปัจจุบัน ผสมผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามวัฒนธรรมที่มีอายุกว่า 1,000 ปีได้อย่างลงตัว ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง ฮานอย จะเห็นผู้คนดื่มด่ำกับการเข้าสังคม การหาเพื่อนใหม่ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือในชนบทผู้คนใช้ชีวิตอย่างสมถะ ตามแนวทางการใช้ชีวิตที่เลือก
10. เรื่องราวความสำเร็จ
นับตั้งแต่เวียดนามเปิดเศรษฐกิจ ช่วงปี 2534-2540 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีการจดทะเบียนมากกว่า 2,000 โครงการ มีทุนจดทะเบียน ประมาณ 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทข้ามชาติชั้นนำที่ตั้งฐานการลงทุนในเวียดนาม เช่น BP, Shell, Total, Daewoo, Toyota, Ford, Coca-Cola และ Sony และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำระดับโลกอื่น ๆ ย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม เช่น Intel, Metro และ Honda
ต่อมาในปี 2556-2557 Samsung ตั้งเป้าลงทุนในเวียดนาม สูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Investment Story ของ Samsung กลายเป็นปรากฎการณ์ในทันที ซึ่งก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือ ต้นทุนการทำธุรกิจของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างประชากรอยู่ในวัยแรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้การลงทุนในเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Leave a Reply